เมื่อ “ชลบถ” คือ “ชนบท” ตำนานไหมขอนแก่น
อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นที่รู้จักกันดีที่มีคำขวัญว่า "ชนบทเมืองไหม เที่ยวไปภูระงำ น้ำศักดิ์สิทธิ์ภูหัน ดูตะวันหนองกองแก้ว" เป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ พ.ศ.2326 และก่อนที่จะมาเป็นอำเภอชนบทในปัจจุบัน มีเรื่องราวเป็นตำนานในอดีตที่น่าสนใจ ซึ่งได้มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่นไว้ว่า เมื่อครั้งท้าวกวนเมืองแสน หรือท้าวคำพาว ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกมาจากสุวรรณภูมิมาตั้งหลักปักฐานอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว โดยขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองราชสีมาจนถึงปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหนองกองแก้วเป็น เมือง "ชลบถ" (อ.ชนบทปัจจุบัน) แปลว่าเมืองแห่งทางน้ำไหล มีเมืองขึ้นถึง 4 เมือง คือ เกษตรสมบูรณ์ เมืองชัยภูมิ เมืองสี่มุม (จัตุรัส) และเมืองโนนลาว
เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ จนถึง พ.ศ.2434 ได้มีการเรียกชื่อเมืองชลบถใหม่ว่า "เมืองชลบถพิบูลย์" มีฐานะอยู่ในลำดับหัวเมืองลาวกลาง เมืองชลบถพิบูลย์ ถูกตัดลงเป็นอำเภอตามระเบียบการปฏิรูปการเมือง และพระยาศรีธนะบาล ปรับลงเป็นอำเภอชลบถในปัจจุบัน และเชื่อว่าใน พ.ศ.2369-2450 คือช่วงแรก เคยพบว่ามีการเรียกขานเป็นเมืองชลบถ บ้างก็เขียนว่าชลบต และช่วงหลังปี 2480 เขียนว่าชนบท ซึ่งคงมีการยึดเสียงเป็นสำคัญ ไม่ได้มีการยึดรูปการเขียน จึงมีการแปลชนบทว่า "บ้านนอก" ในปัจจุบัน ซึ่งความหมายก็คือการไม่พัฒนานั่นเอง
ถนนสายไหมเส้นทางอารยธรรมอีสาน ผ้าไหมมัดหมี่ ถือเป็นสินค้าอันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างชื่อเสียงให้กับชาวอำเภอชนบท จนได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองแห่งผ้าไหมโลก เอกลักษณ์ที่ถือได้ว่าเป็นอารยธรรมอีสานโบราณนี้ ถือสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หรือชื่อที่เรียกเป็นทางการว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการประยุกต์แนวคิดและฝีมือที่เยี่ยมยอดของชาวบ้าน ที่ผสมผสานผ่านความรู้สึกภายในออกมาเป็นลวดลายบนผืนผ้าไหม ที่แต่งเติมด้วยสีสันอันวิจิตรตระการตา จนกลายเป็นผ้าไหมอันดับ 1 ของโลก หรือราชินีแห่งแพรพรรณ หรือที่รู้จักกันดีว่า ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอชนบท "เป็นสุดยอดของผ้าไหมโลก" เนื่องจากได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดในงานสิ่งทอเอเชีย ซึ่งมีสิ่งทอจากนานาชาติในเอเชียกว่า 3,000 ชิ้น
ผ้าไหมมัดหมี่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือได้ว่าสามารถเอาชนะประเทศจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่ผลิตผ้าไหมใช้ในชีวิตประจำวัน จึงทำให้ชื่อเสียงของอำเภอชนบท เป็นที่รู้จักของนานาอารยธรรมประเทศตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดังนั้น ถนนทุกสายจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ดินแดนแห่งเมืองผ้าไหมงาม อำเภอชนบท จนถึงปัจจุบัน
ถนนสายไหมกว่า 2,000 เมตร ในเขตเทศบาลตำบลชนบท สองข้างถนนเต็มไปด้วยร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมกว่า 50-60 ร้าน ซึ่งไม่รวมร้านค้าตามหมู่บ้านต่างๆ อีก 78 หมู่บ้าน ใน 8 ตำบล และยังมีโรงงานทอผ้าไหมขนาดใหญ่อีกว่า 10 โรงงาน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายผ้าไหมของอำเภอชนบทจะถูกกล่าวขานและกล่าวถึงกันมากที่สุด เพราะมีลายที่สวยงามมีเอกลักษณ์ และที่สำคัญผ้าไหมที่ชนะการประกวดทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ล้วนเกิดจากฝีมือผู้ชายล้วนๆ และเป็นลายที่ไม่สามารถลอกเลียนได้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (เอเปก) ระหว่างวันที่ 21-30 พ.ค.2546 ที่ผ่านมา ณ จ.ขอนแก่น อำเภอชนบทได้ทอผ้าไหมมัดหมี่ที่มีความยาวที่สุดในโลก สร้างความฮือฮาให้กับคณะชาวต่างประเทศผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก
ลายผ้าไหมมัดหมี่ของดีเมืองชนบท เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีวิธีการทอแบบโบราณ โดยการนำมามัดด้วยเชือกฟาง เชือกกล้วย แล้วผ่านขั้นตอนการย้อมแต่ละสีตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ปัจจุบันมีการพัฒนาฝีมือและสร้างลายประยุกต์ขึ้นมาใหม่ ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดมีกว่า 50 ลาย อาทิ ลายหมี่ขอพระเทพ ลายหมี่ขันมากเบ็ง หมี่การบิน หมี่แขก หมี่กุญแจ หมี่ไส้แมงดาทะเล หมี่พันธุ์ไม้เลื้อย หมี่คั่น-หมี่ตา หมี่ผกากรอง หมี่บ้านเชียง หมี่มงกุฎ หมี่ปีการท่องเที่ยวไทย หมี่กงเก้าสาย หมี่ดาวเรือง หมี่ดอกจันทร์ หมี่เขมาร หมี่จี้เพชร หมี่กงเจ็ดสาย หมี่ตาหมากรุก หมี่สร้อยเพชร หมี่จั่ว หมี่เต่า หมี่ปลาปักเป้า หมี่ใยตำลึง หมี่หัวใจว่าง หมี่เฉลิมพระเกียรติ หมี่นกเชิงเทียน หมี่ขอเลขหนึ่ง หมี่ผีเสื้อดอกไม้ หมี่เกล็ดปลา หมี่ช่อชะบา หมี่โอบเต็ง หมี่ขาเปีย หมี่หน้านางน้อย หมี่เข็มกลัดเงิน หมี่บันไดอิง หมี่มหาชาดก เป็นต้น
ซึ่งหมี่ลายต่างๆ ที่กล่าวมาได้ประยุกต์มาจากลายหมี่โบราณ ที่ถือว่าเป็นลายหมี่ที่เก่าแก่ที่สุด อายุ 200-300 ปี เช่น ลายหมี่ตา หมี่นาคเกี้ยว หมากจับ โอบเต็ง กงลองคลอง ดาวล้อมเดือน ข้าวหลามดอกแก้ว ดอกแก้วน้อย ไข่เขามร ปูจ๋า หมี่กลห้าสาย หมี่ก้อ หมี่จิ้ว
งานประเพณีอีกงานหนึ่งของอำเภอชนบทที่ขึ้นชื่อและจัดขึ้นทุกปี และมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมากก็คือ งานไหมมัดหมี่ และของดีเมืองชลบถ ซึ่ง อ.ชนบท ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของ อ.ชนบท โดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาว อ.ชนบท ในการทอผ้าไหมที่มีความสวยงามขึ้นชื่อ จนได้รับรางวัลในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติและระดับโลกมาแล้ว
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของ อ.ชนบท เมืองผ้าไหมจากอดีตสู่ปัจจุบัน